วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

Skin Tips 101 : กระบวนการสังเคราะห์เม็ดสี Part 1

Skin Tips 101 : กระบวนการสังเคราะห์เม็ดสี Part 1



มเชื่อว่ามีหลายท่านอยากมีผิวขาว กระจ่างใส ไว้ในครอบครอง แต่บางท่านก็ขาดความเข้าใจเรื่องสีผิว และกระบวนการในการการสังเคราะห์เม็ดสีผิว ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากคุณเข้าใจกระบวนการนี้อย่างดีแล้ว สามารถนำไปต่อยอดในการเลือกผลิตภัณฑ์ ที่มีผลต่อกระบวนการสร้างเม็ดสี ส่งผลให้กระบวนการถูกขัดขวางหรือทำงานได้ลดลง ทำให้ได้ผิวที่ขาว กระจ่างใส ไว้ในครอบครอง

และดังเช่นเคย บูมก็ต้องขอออกตัวก่อนว่าบูมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์แต่อย่างใด เพียงแค่ชอบและสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพ จึงอยากนำความรู้ที่ได้รับมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ 

ก่อนจะไปเข้าเรื่องบูมอยากให้เพื่อนๆ ที่ยังไม่เข้าใจ กายวิภาคของผิวหนัง กลับไปอ่านบทความก่อนหน้าที่บูมทำไว้ก่อน เพราะเป็นเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกันครับ ถ้าเพื่อนๆ เข้าใจดีแล้วเรามาเริ่มกันเลย

กระบวนการสังเคราะห์เม็ดสี Part 1 

ในกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน จะเกี่ยวข้องกับ

  1. เซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) เป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในผิวหนังชั้นอีพิเดอมีส จะแทรกตัวอยู่ในชั้นของเบเซิลเซลล์ (Basal cell) มีหน้าที่สร้างเม็ดสีเมลานิน ทำให้เกิดเป็นสีผิวต่างๆ ขึ้นมา โดยเม็ดสีเมลานินที่ผลิตขึ้นมา จะถูกเก็บไว้ในเมลาโนโซม 
  2. เมลาโนโซม (Melanosome) เปรียบได้กับอวัยวะชนิดหนึ่งที่อยู่ในเซลล์เมลาโนไซต์ ทำหน้าที่ในการผลิตและเก็บเม็ดสีเมลานิน ซึ่งกระบวนการในการผลิตและเก็บเม็ดสีเมลานิน ทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่นี่ จากนั้นจะถูกส่งไปตามท่อเด็นไดร์ท ดังรูป 
  3. ท่อเด็นไดร์ท (Dendrite) ซึ่งเป็นท่อเล็กๆ (เป็นส่วนหนึ่งของเซลล์เมลาโนไซต์) ที่ยื่นยาวออกไปเป็นแขนงขึ้นไปสู่บนผิวชั้นบนและเข้าไปอยู่ในเซลล์คีราติโนไซต์ ดังรูป
    • ท่อนี้จะส่งถุงเมลาโนโซม (ภายในมีเม็ดสีเมลานินบรรจุอยู่) ไปตามท่อเด็นไดร์ท จากนั้นก็จะส่งเม็ดสีเมลานินเข้าสู่เซลล์คีราติโนไซต์ 
    • หากมีการขัดขวางไม่ให้มีการส่งเมลานินไปตามท่อเด็นไดร์ท ก็จะส่งผลให้ไม่มีการแสดงผลของเมลานินออกมา ถึงแม้ว่าจะมีเม็ดสีเมลานินอยู่จำนวนมากแล้วก็ตาม 
  4. เซลล์คีราติโนไซต์ (Keratinocyte) เป็นเซลล์ชั้นบนสุดของผิวหนัง เมื่อเกิดใหม่จะอยู่ด้านล่างใกล้กับเบเซิลเซลล์ ซึ่งเซลล์จะมีลักษณะกลม แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็จะถูกเซลล์คีราติโนไซต์ที่เกิดใหม่ดันให้ขึ้นสู่ชั้นผิวและจะถูกดันให้แบน ดังรูป จากนั้นเซลล์คีราติโนไซต์ก็จะตาย (จากรูปจะเห็นว่าไม่มีนิวเคลียสอยู่ภายในเซลล์)
    • เซลล์คีราติโนไซต์ที่ตายแล้ว (ไม่มีนิวเคลียสอยู่ภายในเซลล์) ก็จะรวมตัวกันเป็นชั้นขี้ไคล (Stratum corneum)

เพิ่มเติม : ปกติที่ชั้นผิว ในรอบเซลล์หนึ่ง (Cell Cycle) จะมีระยะเวลา 28 วัน ถ้ารอบเซลล์ที่ยาวนานกว่านี้ก็จะเป็นผลให้ผิวหมองคล้ำ เนื่องจากมีการพอกตัวหนาของชั้นขี้ไคล (Keratin)  

ด้วยเหตุนี้ จึงนิยมใช้กรด AHA มาช่วยผลัดเซลล์ผิว โดยกรด AHA จะไปทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างชั้นของเคอราตินอ่อนแรงลง ทำให้หลุดลอกออกได้ง่าย จึงเปิดทางให้เซลล์คีราติโนไซต์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ ผิวจึงดูกระจ่างใสได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น