Skin Tips 101 : รังสียูวี (UV) อันตรายที่มีต่อผิว และการป้องกัน

By Bro Sis ติดรีวิว - เมษายน 26, 2561

รังสียูวี (UV) อันตรายที่มีต่อผิว และการป้องกัน


แสงอาทิตย์ประกอบด้วยรังสีต่างๆมากมาย อัลตร้าไวโอเล็ตหรือรังสียูวีเป็นส่วนหนึ่งของแสงอาทิตย์ซึ่งทำให้เกิดผิวไหม้ ทำร้ายผิว และมะเร็งผิวหนัง โดยแสงอัลตร้าไวโอเล็ตหรือยูวีสามารถแบ่งออกมาเป็น 3 ประเภทตามความยาวคลื่นได้แก่: ยูวีเอ (UVA), ยูวีบี (UVB), และยูวีซี (UVC)

วันที่อากาศดี ไม่ค่อยมีแดด ไม่มีรังสียูวีจริงหรือ ?


ใครที่คิดแบบนี้อยู่ผิดถนัดนะครับ เพราะปริมาณแสงยูวีที่ส่องลงมากระทบผิวโลกแตกต่างกันไปในช่วงเวลาระหว่างวัน ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือ 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมง ช่วงเวลานี้ผิวหนังของเราจะถูกทำร้ายได้เร็วที่สุด ในวันที่ฟ้าเปิดไม่มีเมฆหมอกเราจะรู้สึกถึงรังอัลตร้าไวโอเล็ตนี้ได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามแสงอัลตร้าไวโอเล็ตไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ รังสีอัลตร้าไวโอเล็ตอาจจะสูงในวันที่อากาศเย็น และเจ้าแสงยูวีนี้สามารถเจาะทะลุชั้นเมฆลงมาสู่ผิวโลกได้ด้วย ยิ่งแสงยูวีแรงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการทำให้ผิวเสียหายแสงยูวีจะเข้มข้นเป็นพิเศษในส่วนเวลา 10.00am - 15.00pm โดยแสงยูวีจะถูกวัดค่าในรูปแบบของ UV Index (UVI) นั่นเอง

ทำความรู้จักกับ UV Index 

ในปี 1994 WHO ร่วมกับ The United Nations Environment Programme และ World Meteorological Organization ได้ร่วมกันพัฒนาดัชนีหนึ่งที่ใช้เพื่อการวัดค่าการแผ่รังสียูวีของดวงอาทิตย์มายังพื้นผิวโลก เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดการได้รับรังสียูวีในปริมาณสูงเกินไปของมนุษย์ เป็นการลดอันตรายที่อาจจะได้รับจากรังสียูวี และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคที่ได้รับจากรังสียูวี ดัชนี Ultraviolet Index หรือ UVI จึงเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ถึงความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากรังสียูวีที่แผ่สู่พื้นผิวโลกในแต่ละวัน  และหาทางป้องกันตนเองจากอันตรายของรังสียูวีนั้นๆ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดัชนีรังสียูวี หรือ UVI จะมีค่าเริ่มต้นจาก 0 แล้วเพิ่มขึ้นตามความแรงของรังสียูวีที่ตกกระทบบนพื้นผิวโลก ณ กึ่งกลางเวลาพระอาทิตย์ขึ้นกับเวลาพระอาทิตย์ตก ซึ่งอาจจะแตกต่างกันได้ในแต่ละวันแต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของเวลา 10:00 – 15:00 ค่าของ UVI ที่ได้นั้นจะมาจากการคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในหลายตัวแปรร่วมกัน ค่าที่สูงขึ้นจะบอกถึงระดับอันตรายที่เพิ่มมากขึ้นของรังสียูวี และคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อป้องกันอันตรายจากค่าดัชนีรังสียูวีนั้น ได้แก่


สามารถตรวจสอบค่า UV Index ของประเทศไทยได้จาก : ลิงค์นี้

ประเภทของรังสียูวี และโทษของรังสียูวี


รังสียูวีแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ :

  1. UVA Rays - เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร UVA ยังแบ่งออกเป็น UVA I ความยาวคลื่น 340-400 นาโนเมตร และ UVA II ความยาวคลื่น 320-340 นาโนเมตร 
  2. UVB Rays - เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร  
  3. UVC Rays - เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 200-290 นาโนเมตร 

จริงอยู่ที่ว่ามนุษย์ได้รับประโยชน์จากแสงแดดมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ว่าจะใช้ในการให้พลังงาน ตากผ้า ให้ความอบอุ่น มอบแสงสว่าง ฯลฯ แต่บนโลกนี้ไม่เคยมีอะไรที่มีแต่ประโยชน์เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโทษของมันกันบ้างดีกว่าครับ

โทษของรังสียูวีแต่ละประเภท


UVA Rays – ย่อมาจากอัลตร้าไวโอเล็ตเอ ซึ่งอาจจะจำง่ายๆในชื่อ “UV Aging – ยูวีเอจจิ้ง” เพราะยูวีเอเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผิวระยะยาวและปัญหาเอจจิ้ง หรือก็คือผิวแก่ก่อนวัย รอยเหี่ยวย่อน ตีนกา และไฝแดดนั่นเอง

UVB Rays - ย่อมาจากอัลตร้าไวโอเล็ตบี ซึ่งอาจจะเรียกให้จำง่ายในชื่อ “UV Burning – ยูวีเบิร์นนิ่ง” เพราะมันทำให้ผิวถูกแดดเผา และไม่เหมือนกับยูวีเอเพราะยูวีความเข้มแตกต่างกันไประหว่างปี ซึ่งมะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่เกิดจากแสงยูวีบีนั่นเอง


UVC Rays - ย่อมาจากอัลตร้าไวโอเล็ตซี ซึ่งเป็นรังสีที่รุนแรงที่สุด และสามารถทำอันตรายต่อชีวิตได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามเรายังโชคดีที่ชั้นโอโซนช่วยปกป้องรังสีชนิดนี้ไม่ให้ผ่านเข้ามาสู่ผิวโลก ดังนั้นอย่าพยายามทำลายชั้นโอโซนนะ

UVC นั้นถ้าหลุดรอดผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามาคงไม่มีสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ เหลือรอดอยู่  โชคดีที่โลกของเรามีก๊าซโอโซนในบรรยากาศช่วยดูดซับ UVC เอาไว้

แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เกิดโทษจากแสงแดดได้อย่างไร ?

          
  • อันดับแรกก็ต้องหลบแดด พยายามไม่ออกไปตากแดด โดยเฉพาะช่วงเที่ยงวัน เพราะเป็นช่วงที่มีแสงอัลตราไวโอเล็ตมากที่สุด  ถ้าจะออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเช่นตีกอล์ฟ ว่ายน้ำหรือเล่นกีฬากลางแจ้งทั้งหลาย ควรเลือกเวลาเช้าตรู่ หรือไม่ก็ช่วงเย็นไปเลย
  • อันดับต่อมาก็คือ ใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายเช่นเสื้อแขนยาว  คอปิด หรือหากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง  ควรจะหาที่ร่มๆ เช่นใต้ต้นไม้ ใต้ชายคา
  • สุดท้ายคงหนีไม่พ้นไอเท็มคู่กายของใครหลายๆคนในยุคนี้ จำไว้ให้ดีครับว่า  ถ้าจะป้องกันโทษจากแสงแดด  สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ สารกันแดด สารกันแดด แล้วก็สารกันแดด

สารกันแดดคืออะไร มีกี่ชนิด ?

สารกันแดดคือ.....

ถ้าจะนับกันในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว  นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นสารกันแดดมาเป็นเวลากว่า 70 ปี  เหตุผลใหญ่ในสมัยนั้นก็เพื่อนำมาทาผิวหนังเพื่อป้องกันแดดเผา  หรือเอามาทาเพื่อให้ตากแดดได้นานขึ้นโดยที่ผิวไม่ไหม้   สมัยก่อนเราเรียกกันว่ายากันแดด  เพราะในหลายกรณีนำมาใช้เป็นยาเพื่อทาป้องกันไม่ให้โรคผิวหนังบางประเภทที่ไวต่อแสง  เช่น SLE ที่มีอาการแพ้แสง โรคแพ้แสง PLE  ทำให้อาการแพ้แสงไม่กำเริบ  ปัจจุบันวัตถุประสงค์ในการใช้สารกันแดดเปลี่ยนไปเป็นใช้ทาเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเสื่อมเร็วหรือแก่ก่อนวัย   ที่หวังกันมากๆก็คือหวังว่าสารกันแดดจะช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากแสงแดด  อย่างไรก็ตามสถาบันมะเร็งของประเทศสหรัฐอเมริกายังพบว่า  ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังโดยภาพรวมไม่ได้ลดลงเลยแม้ว่าจะมีการใช้สารกันแดดกันอย่างมากมายในปัจจุบัน 😂😂

สารกันแดดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด


1.     Chemical sunscreen  เป็นสารกันแดดที่มีความสามารถดูดซับพลังงานของแสงแดดไว้ก่อนที่แสงแดดจะผ่านไปที่ผิวหนัง ตัวอย่างเช่น
  • PABA และ cinnamate ดูดซับเฉพาะ UVB
  • Benzophenone ดูดซับได้ทั้ง UVB และ UVA บางส่วน
  • Dibenzoylmethane ดูดซับได้เฉพาะ UVA เท่านั้น
สารกันแดดในกลุ่มนี้  จะละลายได้ดีในตัวทำละลายบางชนิดโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ และน้ำมัน  ทาแล้วหน้าไม่ค่อยจะขาวมาก  แต่ข้อเสียคือาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองต่อผิวหนังได้

2.     Physical sunscreen พวกนี้มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสง ได้แก่
  • Titanium Dioxide(Ti02)
  • Zinc Oxide(ZnO)
สารกลุ่มนี้จะมีลักษณะเป็นแป้งผงละเอียด สีขาว  ไม่ละลายในน้ำหรือตัวทำละลายใด  มักนำไปใช้ในแป้งฝุ่นโรยตัวเด็ก และแป้งฝุ่นแข็งที่ใช้แต่งหน้าผู้หญิง  แต่เมื่อนำมาเป็นสารกันแดดจะเป็นผงที่ละเอียดมากขึ้น

ข้อดีของสารกันแดดกลุ่มนี้ก็คือกันได้ทั้ง UVA,UVB, visible light, infrared light  ระหว่างช่วงคลื่น 260-700 นาโนเมตร  แถมยังไม่ค่อยเกิดอาการแพ้   แต่ทาแล้วมักจะทำให้หน้าขาวทึบ  แลดูไม่ค่อยจะสวย  แต่ปัจจุบันมีทั้ง microfine Titanium Dioxide และ microfine Zinc Oxide กลุ่มนี้ทาแล้วหน้าไม่ขาวมาก และไม่ค่อยเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง

บอกเลยว่ายิ่งหาข้อมูล ยิ่งพิมพ์ ยิ่งรู้สึกว่าเจ้ารังสี UV นี่ช่างน่ากลัวเหลือเกิน ทั้งทำให้ผิวไหม้ ทำให้แก่ชรา ไหนจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังอีก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือปกป้องผิวจากรังสียูวีตามที่กล่าวไปด้านบน และพยายามหลีกเลี่ยงเท่าที่จะทำได้ เพื่อสุขภาพผิวที่ดีของคุณเอง

  • Share:

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น