Skin Tips 101 : กระบวนการสังเคราะห์เม็ดสี Part 2
By Bro Sis ติดรีวิว - พฤษภาคม 14, 2561
Skin Tips 101 : กระบวนการสังเคราะห์เม็ดสี Part 2
จากบทความที่แล้ว (กระบวนการสังเคราะห์เม็ดสี Part 1) บูมได้พูดถึงการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน และส่วนประกอบในกระบวนแบบคร่าวไปแล้ว วันนี้เรามาลงลึกเรื่องกระบวนการ ปัจจัยที่กระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดสี และการยับยั้งกันบ้างดีกว่าครับ
NOTE : เช่นเคย บูมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์แต่อย่างใด เพียงแค่ชื่นชอบในเรื่องการดูแลผิว และสุขภาพจึงอยากนำความรู้ที่ได้อ่านเจอมาแบ่งปันเพื่อนๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการต่อยอดในการทำงานหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเองครับ
กระบวนการสังเคราะห์เม็ดสี
ในบทความนี้เราจะไปทำความรู้จักกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเมลาโนโซม ซื่งอยู่ในเซลล์เมลาโนไซต์อีกที ดังในรูป
จากรูปจะให้สังเกตุกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินที่อยู่ในกรอบสีแดง กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในเมลาโนโซม จากนั้นเมลาโนโซมก็จะถูกส่งผ่านท่อเด็นไดร์ทไปสู่เซลล์คีราติโนไซต์ ซึ่งก็เปรียบได้ว่าเมลาโนโซมเป็นเหมือนกับโรงงานที่ผลิตสินค้า (ซึ่งก็คือ เมลานิน) จากนั้นก็จะขนส่งไปที่ร้านค้าเพื่อแสดงสินค้า (เปรียบร้านค้าได้กับเซลล์คีราติโนไซต์)
ดังนั้น ถ้ามีการขัดขวางกระบวนการนี้ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ร่างกายเราก็จะมีการผลิดเม็ดสีเมลานินลดลงด้วยนั่นเอง ในการสังเคราะห์เมลานินนั้นจะดูค่อนข้างเข้าใจยากและซับซ้อนสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย บูมเลยขอสรุปง่ายๆ ตามภาพด้านล่างนี้นะครับ
ในกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ถ้าดูจากรูปด้านบน จะเห็นว่ามีสารตั้งต้นคือ Tyrosine จากนั้นก็จะถูกสังเคราะห์ไปเป็น DOPA ต่อไปจนในที่สุดได้เป็นเม็ดสีเมลานิน โดยมี เอนไซม์ Tyrosinase เป็นส่วนประกอบหลัก
จากภาพจะเห็นว่าในกระบวนการสังเคราะห์นี้จะเกี่ยวข้องกับเอ็นไซม์หลักคือ Tyrosinase เป็นตัวเริ่มต้นที่สำคัญ และเป็นตัวที่นักวิทยาศาสตร์พยายามจะหาทางยับยั้งการทำงานของมันให้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเอ็นไซม์อื่นๆอีกหลายตัวแต่จะมีความสำคัญน้อยมากและมักจะไม่เป็นที่สนใจ ในบทความนี้จึงเน้นไปที่ Tyrosinase เป็นหลัก
ปัจจัยที่มีผลในการกระตุ้นให้มีการสร้างเมลานิน
- รังสี UVA ถือว่าเป็นปัจจัยหลัก ที่ไปกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์ โดยตรง ทำให้เกิดการสังเคราะห์เมลานินขึ้น เพื่อป้องกันรังสี UV และควบคุมอุณหภูมิซึ่งทำหน้าที่ดูดซับแสงอาทิตย์และเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของพลังงานความร้อน ดังรูป
- เซลล์คีราติโนไซต์เมื่อได้รับรังสี UV จะปล่อยสาร a-MSH (Alpha-Melanocyte Stimulating Hormone), Prostaglandin E2 (PGE2), Plasmin, Adenocorticotropic hormone (ACTH) และ Endothelial-1 ซึ่งสารทุกตัวนี้จะไปกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์ ให้สร้างเม็ดสีเมลานิน
- นอกจากแสงแดดแล้ว ยังพบว่ามีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้สีผิวเข้มขึ้นได้ เช่น
- ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนบางอย่าง เช่น เอสโตรเจน หรือโปรเจสเตอโรน
- ความเครียดเรื้อรัง จะเห็นว่าในบางคนทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำได้
- ยาบางชนิด ที่ทำให้ผิวหนังบางลงและไวต่อแสง
- สารเคมีในเครื่องสำอาง หรือน้ำหอมทำให้เกิดการแพ้ ไวต่อแสง หรือผิวหนังอักเสบ
- พันธุกรรมหรือเชื้อชาติ ที่ทำให้ไวต่อแสงอยู่แล้ว เช่นกลุ่มชาวเอเซีย กลุ่มฮีสแปนิค (กลุ่มชนละติน)
- แร่ธาตุบางอย่าง เช่น ทองแดง สังกะสี ธาตุเหล็ก ทำให้มีการสร้างสีเมลานินได้มากขึ้น
How to : ลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน
อันดับแรก — ลดปัจจัยที่มากระตุ้น ได้แก่
- ป้องกันผิวจากรังสี UV
- หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ผิวไวต่อแสง
- เลี่ยงยาคุม
- ลดความเครียด
อันดับที่สอง — จัดการกับเอนไซม์ Tyrosinase โดย :
- ลดการสร้าง
- ลดการทำงาน
- ชะลอไม่ให้เอ็นไซม์ที่สร้างขึ้นมาแล้ว มีศักยภาพ
- รบกวนการทำงาน
- เร่งการสลายตัวของเอ็นไซม์
อันดับที่สาม — ขัดขวางการแสดงผลของเม็ดสีเมลานิน
- ยับยั้งการส่งเมลาโนโซมไปตามท่อเด็นไดร์ท
การยับยั้ง หรือขัดขวางการผลิตเม็ดสีเมลานิน
ทีนี้มาถึงจุดที่หลายคนรอคอยกันบ้างว่า อ่านมาตั้งนานเมื่อไหร่จะรู้ว่าต้องใช้อะไรถึงจะลดการผลิดเม็ดสีเมลานิน บูมขอยกตัวอย่างสารที่มีส่วนในการขัดขวางและลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน โดยจะให้ความสำคัญไปที่เอ็นไซม์ Tyrosinase เป็นหลัก โดยเน้นการทำงานในระดับเอ็นไซม์ ดังนี้
ผลต่อกระบวนการผลิตเมลานิน
- ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเอ็นไซม์ Tyrosinases ได้แก่สารพวก Lactic acid, Azelaic acid, Lactate
- ยับยั้งการพัฒนาการ (Maturation) ของเอ็นไซม์ Tyrosinases ให้มีศักยภาพ ได้แก่สารพวก Glutathione หรือ cysteine
- ยับยั้งหรือรบกวนการทำงาน (Activities) ของเอ็นไซม์ Tyrosinases สารในกลุ่มนี้มีหลายตัวด้วยกัน และมักจะถูกนำมาผสมในเครื่องสำอางที่วางขายในปัจจุบัน ได้แก่ สาร Hydroquinone, Kojic acid, สารสกัดจากชะเอม (Licorice), Arbutin, VitaminC, สารสกัดจากชาเขียว (Green tea extracts), สารสกัดจากปอสา (paper mulberry), สารสกัดจากแอปเปิ้ล (Applephenol extracts), Ellagic acid, polyglutanmate, tanaka extracts, สารสกัดจากเปลือกมะหาด (Mahad), สารสกัดจากบอระเพ็ด, สารสกัดจากสาเก, สารสกัดจาก สมุนไพรอื่นๆ, สารสกัดจากเปลือกสนมาริไทม์ (Pynocare), Tranxemic acid เป็นต้น
- เพิ่มการสลายตัวของเอ็นไซม์ Tyrosinases ได้แก่สารพวก Alpha linoleic acid
- ยับยั้งการส่งสัญญานในการผลิตเมลานิน ในระยะ 4 – 5 ปี ที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงการยับยั้งการทำงานของ Tyrosinase โดยเน้นไปที่ Neurotransmitter ดังนั้น จึงต้องขัดขวางกระบวนการส่งคำสั่งนี้ ซึ่งมีผลให้เกิดการยับยั้งการสร้างเมลานินได้
ปกติแล้ว การสร้างเม็ดสีเมลานิน จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยต่างๆ มากระตุ้น จากนั้นจะมีการส่งคำสั่งผ่านทางปลายประสาท ซึ่งสารที่ทำหน้าที่นี้คือ NO (Nitric Oxide: Signaling molecule) เป็นสัญญาณคำสั่งไปที่เซลล์เมลาโนไซต์ ให้มีการสังเคราะห์เม์ดสีเมลานินขึ้นมา
ผลต่อการแสดงผลของเม็ดสีเมลานิน
ขั้นตอนนี้จะเป็นการขัดขวางเมลาโนโซม ไม่ให้นำส่งเม็ดสีเมลานินผ่านไปตามท่อเด็นไดร์ท ไปที่เซลล์คีราติโนไซต์ได้ จึงทำให้สีผิวจางลง
แนวความคิดใหม่ การยับยั้ง Tyrosinase ในระดับยีน
ปกติก่อนจะมีการแบ่งเซลล์เมลาโนไซต์เพื่อเพิ่มจำนวน ที่โครโมโซมจะมีการจำลองยีนขึ้นมาอีก 1 ชุด ที่เหมือนกันทุกประการ โดยมี Microphtalmia-associated transcription factor (MITF) เป็นตัวที่ควบคุมการจำลองยีน (ซึ่งยีนที่ว่านี้จะไปควบคุมการสังเคราะห์เมลานินอีกต่อ) จากนั้นจึงจะมีการแบ่งโครโมโซมและแบ่งเซลล์ตามมา ทำให้ได้เซลล์เมลาโนไซต์ใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเซลล์เมลาโนไซต์ใหม่ที่ได้นี้จะมีคุณสมบัติเหมือนกับเซลล์เดิมทุกประการ
ดังนั้นถ้ามีการขัดขวางการจำลองยีน มีผลให้เซลล์ใหม่ที่ได้มีคุณสมบัติที่เปลี่ยนไปจากเซลล์ตัวเดิม (เซลล์เมลาโนไซต์ใหม่นี้จะสร้างเมลานินได้ไม่ดีเท่าเซลล์เดิม) และถ้ามีการยับยั้งการแสดงผลของ MITF ด้วย ก็จะทำให้ลดการทำงานของเอ็นไซม์ Tyrosinase ได้
ส่วน Transforming growth factor - β1 (TGF- β1) จะมีบทบาทต่อการเพิ่มจำนวนและการแบ่งตัวของเซลล์ นอกจากนี้ ยังพบว่า TGF- β1 จะไปลดปริมาณของเมลานินได้ โดยลดการทำงานของ Tyrosinase และ MITF
ต้องบอกว่าบทความนี้เป็นบทความที่ค่อนข้างเข้าใจยากซักหน่อยสำหรับบุคคลทั่วๆไป (และตัวบูมเอง) แต่บูมก็ได้พยายามเรียบเรียง และปรับให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆไม่มากก็น้อยนะครับ หากถูกใจบทความดีๆแบบนี้ ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้บูมหน่อยนะครับ
0 ความคิดเห็น