Skin Tips 101 : ทำความรู้จักกายวิภาคและหน้าที่ของผิวหนัง

By Bro Sis ติดรีวิว - พฤษภาคม 07, 2561

Skin Tips 101 : ทำความรู้จักกายวิภาคและหน้าที่ของผิวหนัง


จากบทความก่อนหน้านี้ที่บูมได้พูดถึงเรื่องการดูแลผิว ความแตกต่างของสีผิว และรังสียูวีไปแล้ว วันนี้เลยอยากให้เพื่อนๆ เข้าใจเรื่องกายวิภาคและโครงสร้างของผิวหนังมากขึ้น จะได้เข้าใจภาพรวมและนำไปต่อยอดในการดูแลผิวต่อไป

ก่อนอื่นบูมขอออกตัวก่อนนะครับว่าบูมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ แค่มีความสนใจเรื่องการดูแลผิวและอยากทำความเข้าใจมากขึ้น เลยอยากนำสิ่งที่ได้รู้มาบอกต่อโดยบูมจะพยายามทำให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อาจมีบางคำศัพท์ที่เป็นคำเฉพาะครับ เอาหละ...ถ้าพร้อมแล้วสูดหายใจลึกๆ แล้วเราเริ่มกันเลยครับ

ผิวหนังจัดว่าเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และห่อหุ้มร่างกายเราไว้ทั้งหมด ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ใต้ลงไป จากความร้อน แสง การติดเชื้อ และสภาพแวดล้อมทั้งหลาย นอกจากนี้มันยังทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ เป็นที่กักเก็บน้ำและไขมัน มีปลายประสาทรับรู้ความรู้สึก
ป้องกันการสูญเสียน้ำ ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

ผิวหนังทั่วทั้งร่างกายจะมีความแตกต่างกันไปทั้งสี ความหยาบ ละเอียด และความหนา   ยกตัวอย่างผิวหนังที่ศรีษะจะมีรากผมอยู่มากกว่าที่อื่น ในขณะที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าไม่มีเลย แต่จะมีความหนาของชั้นผิวที่มากกว่าเป็นต้น

ผิวหนังประกอบไปด้วยชั้นต่างๆ ซึ่งแต่ละชั้นก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  1. ชั้นอีพิเดอมีส (Epidermis)
  2. ชั้นเดอมิส (Dermis)
  3. ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutneous fat layer)

ชั้นอีพิเดอมีส (Epidermis)

เป็นผิวหนังชั้นนอกสุด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชั้นหนังกำพร้า ประกอบด้วย 3 ส่วนย่อยๆ คือ


  • สเตรตัมคอร์เนียม เป็นชั้นนอกสุดของชั้นอีพิเดอร์มิส เรียกง่ายๆคือ ชั้นขี้ไคล ประกอบด้วยเซลล์คีราติโนไซส์ (Keratinocytes) ที่ทำหน้าที่สร้าง เคอราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ผิวแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น  ช่วยปกป้องผิวจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก และยังช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายด้วย
    • ชั้นขี้ไคลนี้ถ้าเกาะติดกันแน่นและไม่ลอกหลุดตามเวลาที่ควร ก็จะไปอุดตันตามรูขุมขน เป็นที่มาของสิวเสี้ยน และเป็นสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบตามมาได้ ดังนั้นการใช้กรด AHA ก็จะไปเร่งการผลัดเซลล์ผิวในชั้นนี้ได้ จึงช่วยลดสิวเสี้ยนลงได้
  • เซลล์คีราติโนไซต์ (หรืออีกชื่อ สความาสเซลล์ - Squamous cell) ถ้าเรียกแบบชาวบ้านก็คือ หนังกำพร้า ชั้นนี้จะอยู่ถัดใต้ชั้นสเตรตัม คอร์เนียมลงไป เป็นชั้นเซลล์คีราติโนไซต์ที่ยังมีชีวิต และเป็นเซลล์ที่มีอายุโตเต็มวัย พร้อมจะกลายสภาพไปเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว (ซึ่งก็คือชั้นสเตรตัม คอร์เนียม) และหลุดลอกกลายเป็นขี้ไคล
  • ชั้นเบเซิล (Basal Layer) เป็นชั้นที่ลึกที่สุดของชั้นอีพิเดอมีส ที่ชั้นนี้จะมีเบเซิลเซลล์อยู่ และแผ่คลุมต่อเนื่องกันตลอด   เบเซิลเซลล์นี้จะแบ่งตัวและสร้างเป็นเซลล์คีราติโนไซต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนเซลล์คีราติโนไซต์ที่เสื่อมสภาพกลายไปเป็นชั้นสเตรตัม คอร์เนียม

ซึ่งในชั้นอีพิเดอมีสนี้เองจะมีเซลล์เมลาโนไซต์แทรกตัวอยู่ ซึ่งเซลล์เมลาโนไซต์นี้จะเป็นตัวที่ผลิตเม็ดสีเมลานิน (ทำให้เกิดสีผิว)


โดยปกติเซลล์ชั้นหนังกำพร้า จะมีการผลัดเปลี่ยนกลายเป็นขี้ไคลตลอดเวลา และหลุดลอกออกไปตามธรรมชาติ   ตามรูป (1) คือเซลล์ชั้นเบเซิล จะแบ่งตัวและเติบโตกลายเป็น เซลล์คีราติโนไซต์ ซึ่งเซลล์ที่เกิดใหม่ (2) จะอยู่ด้านล่าง เมื่อเซลล์คีราติโนไซต์แก่ตัวก็จะถูกดันขึ้นอยู่ด้านบน (3) จากนั้นก็ตายกลายเป็นชั้นสเตรตัม คอร์เนียม ซึ่งก็คือชั้นขี้ไคล (4) นั่นเอง

ผิวหนังในเด็กกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเร็ว ทำให้เด็กมีผิวหน้าใส เรียบเกลี้ยง แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นช้าๆ ทำให้การผลัดเซลล์ผิวช้าลง ขี้ไคลก็จะพอกหนาขึ้น

เมื่อมีปัจจัยภายนอกต่างๆ มาเสริม เช่น โดนแสงแดดบ่อย, มลพิษ, สารเคมี, สูบบุหรี่ ก็จะไปเร่งให้ผิวเสื่อมสภาพเร็วขึ้น   ทำให้ผิวหยาบกร้าน, มีรอยด่างดำ, ตกกระ, ฝ้า รอยเหี่ยวย่น ผิวหน้าแลดูหมองคล้ำ ไม่สดใส

ชั้นเดอมีส (Dermis)

เป็นชั้นที่อยู่ตรงกลาง จัดว่าเป็นชั้นหนังแท้ ที่ชั้นนี้จะมีหลอดเลือดขนาดเล็ก มาหล่อเลี้ยง ท่อน้ำเหลืองรากขน ต่อมเหงื่อ เส้นใยคอลลาเจน เซลล์ไฟโบรบลาส (Fibroblast) ซึ่งเป็นตัวที่สร้างเส้นใยคอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) เส้นประสาท ชั้นเดอมีสนี้จะถูกยึดเข้าหากันด้วยเส้นใยคอลลาเจน  ชั้นนี้จะมีปลายประสาทรับความรู้สึกเจ็บและสัมผ้ส

ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง

เป็นชั้นที่อยู่ลึกที่สุด   ชั้นนี้จะมีเครือข่ายของเส้นใยคอลลาเจนและเซลล์ไขมัน ช่วยในการเก็บสะสมพลังงานความร้อนไม่ให้สูญเสียออกนอกร่างกาย และช่วยปกป้องร่างกาย ด้วยการดูดซับแรงกระแทกจากภายนอก


ต้องขอปรบมือให้กับเพื่อนๆทุกคนที่อดทน และพยายามทำความเข้าใจกันมาจนจบบทความนี้ (เก่งมากจ้า 👏)  สาเหตุที่บูมไม่ค่อยพูดถึงผิวหนังชั้นเดอมีส และชั้นไขมันมากเท่าชั้นอีพิเดอมิสก็เพราะว่า ไม่อยากให้เนื้อหายาก และยาวจนเกินไปนัก ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้ก็เพียงพอสำหรับความรู้พื้นฐานที่จะนำไปต่อยอดในการดูแลผิว หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้บ้างแล้วครับ

หวังว่าบทความ Skin Tips 101 จะเป็นประโยชน์กันเพื่อนๆไม่มาก็น้อยนะครับ แล้วจะทะยอยอัพเดทให้เรื่อยๆครับผม หากถูกใจบทความดีๆแบบนี้ สามารถแชร์ได้ครับ บูมจะได้มีกำลังใจที่จะหาข้อมูล และนำมาแบ่งปันอีกจ้า 👍

  • Share:

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น